บทความต่างๆ

หัวข้อ
อินเตอร์เน็ตเร็วๆช้าๆ กับ Traffic ต่างประเทศ
กว่าจะเป็น L3 Managed Switch
การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต แบบ IP transit
Mikrotik authen AD radius windows server 2012 ได้มั้ย

การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต แบบ IP transit

การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับทางผู้ให้บริการนั้น เรามักคุ้นเคยกับการขอใช้บริการอินเตอร์เน็ต แบบ Home แบบ Coporate ซึ่งก็มีทั้งที่ได้ IP address เป็น Private IP, Dynamic Public IP และ Fixed Public IP โดยบริการทั้งหมดที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยกันนั้นจะมีการใช้งาน Public IP ของทางผู้ให้บริการ

IP transit เป็นการเชื่อมต่ออิเตอร์เน็ตอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าพูดถึงเทคนิคนี้แล้วหลายคนอาจไม่คุ้นเคยกัน และถูกมองว่าใช้กันในระดับของ ISP เป็นหลัก แต่จริงๆแล้วการใช้งานอินเตอร์เน็ตแบบ IP transit นั้นก็มีการใช้งานกันในลักษณะที่เป็น Corporate use ในพื้นที่ EU และ US กันมาก การใช้การเชื่อมต่อในรูปแบบนี้เราจะไม่ได้ใช้งาน Public IP ของทางผู้ให้บริการ แต่เราจะต้องมีหมายเลข IP address ของเราเอง ซึ่งเราจะต้องไปดำเนินเรื่องขอหมายเลข IP address มาก่อน โดยที่ IP address ทั้งหมดถูกจัดสรรโดยหน่วยงาน IANA แต่ว่าโดยปกติเราจะทำการจดทะเบียนหมายเลข IP address เพื่อครอบครองหมายเลข IP address นั้นเราจะไม่ได้จดทะเบียนกับทาง IANA (เค้าคงทำงานไม่ทันมั้งครับ) IANA มีการตั้งหน่วยงานย่อยออกมาเพื่อที่จะทำการจัดสรรหมายเลข IP address ให้คนที่มาจดทะเบียนในแต่ละภูมิภาค เราเรียกหน่วยงานนี้ว่า RIR (Regional Internet Registry) ซึ่งมีทั้งหมด 5 หน่วยงาน ได้แก่
- APNIC ดูแลพื้นที่ เอเชียและพวกเกาะต่างๆในมหาสมุทธแปซิฟิก (ถ้าจะไปจดทะเบียนกันต้องติดต่อ APNIC เพราะประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ดูแล)
- RIPE ดูแลพื้นที่ยุโรป (ส่วนตัวผมชอบ RIPE นะเค้า active มาก)
- AFRINIC ดูแลพื้นที่แอฟริกา
- ARIN ดูแลพื้นที่อเมริกาและแคนนาดา
- LACNIC ดูแลพื้นที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้

โดยพื้นฐานของเทคนิคนี้มันมาจากการทำการ route โดยปกตินี่แหละครับ เมื่อเราขอใช้บริการ IP Transit เราก็กำลังจะทำให้ router ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทั่วโลกทำการเพิ่ม route ในส่วนของ IP ที่เราถือครอง กลับมาถึง router ของเรา ผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เราใช้บริการ (ซึ่งอาจมีการกว่า 1 รายได้ ถ้ามีการกว่า 1 รายจะมีเส้นทางได้มากกว่า 1 เส้นทาง) และในทางกลับกันหากมีการเชื่อมต่อ IP อะไรเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ต (ของคนอื่น) router ของเราก็จะทำการเพิ่ม route เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากมีเส้นทางมากกว่า 1 เส้นทาง ก็จะหาเส้นทางที่ดีที่สุดให้เองอัตโนมัติ รวมไปถึงการแก้ไขเส้นทางหากเส้นทางนั้นๆไม่สามารถใช้งานได้ด้วย

โดยปกติแล้ว IP address ที่เราได้รับมานั้นจะมีขนาด subnet /24 เป็นอย่างน้อย นั่นหมายความว่า network /24 จะเป็น network ขนาดเล็กที่สุดที่เราจะใช้ในการ add route เข้าไปใน router ทั่วโลกผ่านการทำ IP transit โดยปกตินะครับ ถ้าอนุญาตให้ใช้ network เล็กกว่านี้แน่นอนว่าจำนวน route ที่ต้องเพิ่มไปใน routing table ของ router ทั่วโลกก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งตอนนี้ route ในประเทศไทยมี 11,015 บรรทัด route ทั่วโลกมีทั้งหมด 840,890 บรรทัด (ข้อมูลจาก router ที่บ้านผมเอง ขณะที่พิมพ์อธิบาย 30/10/2563 00:28น.)

สรุปหากเราเชื่อมต่อแบบ IP transit มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
1. เปลี่ยนผู้ให้บริการ ก็ใช้งาน IP address เดิมได้ รวมถึงใช้ IP ชุดเดียวกับหลายผู้ให้บริการได้
2. ได้ประสิทธิภาพในการ share load และ redundant ที่ดีขึ้น รวมไปถึงความง่ายในการทำงาน เพราะ ใช้หลักการหาเส้นทางที่ดีที่สุด รวมไปถึงความสามารถที่จะเปลี่ยนเส้นทางในขณะที่มีการใช้งานได้ เพราะ IP address ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเส้นทางที่ใช้งาน